Last updated: 6 Mar 2019 | 12209 Views |
“ยาดำ” อาจเป็นชื่อยาที่ไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่นัก และหลายคนคงจะตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ยาดำ มันคืออะไร?
แท้จริงแล้วเจ้ายาก้อนแข็งสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ผิวเงามันวาวนี้ คือ ยาสมุนไพรที่ได้จากน้ำยางสีเหลืองของว่านหางจระเข้นั่นเอง
เนื่องจากน้ำยางที่อยู่ในว่านหางจระเข้มีสาร แอนทราควิโนน (Anthraquinone) ทีมีฤทธิ์ช่วยในการขับถ่าย อาทิ อะโลอีโมดิน (aloe-emodin), อะโลซิน (aloesin), อะโลอิน (aloin) ฯลฯ คนจึงนิยมนำน้ำยางนี้มาทำ “ยาดำ” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะ และโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซร้ท้อง หรืออาจใช้ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวมได้
โดยวิธีการทำ ยาดำ นิยมเลือกว่านหางจระเข้สายพันธ์ุที่มีกาบใหญ่ อายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป ใช้มีดตัดบริเวณส่วนโคนของใบ แล้วนำไปใส่ภาชนะรองน้ำยางสีเหลืองที่ไหลออกมา จากนั้นนำน้ำยางที่ได้เคี่ยวด้วยไฟอ่อนเพื่อระเหยน้ำออก จนน้ำยางเหนียวข้น แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จนกลายเป็นก้อนแข็งสีดำ ที่มีกลิ่นและรสขม ชวนคลื่นไส้ อาเจียน
สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะนำยาดำไปใช้ ให้นำไป “สะตุ” ก่อน เพื่อทำให้ยาสะอาดขึ้น และเพื่อลดฤทธิ์ยาให้อ่อนลงด้วย เนื่องจากยาดำ นี้หากรับประทานมากเกินไป จะทำให้ท้องเสีย และปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะลำไส้บิดเกร็งตัว จนมีอาการอ่อนเพลีย ไตอักเสบ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ฉะนั้นจึงห้ามใช้กับผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร และหญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะอาจทำให้แท้งได้
วิธีการสะตุยาดำ คือ นำยาดำไปตำให้ละเอียดเป็นผงจากนั้นนำกระทะตั้งเตาจนร้อน ค่อยๆ โรยยาดำลงในกระทะ แล้วใส่น้ำเล็กน้อย เมื่อกระทะร้อนจะสังเกตได้ว่ายาดำจะเดือด และกลายเป็นยางเหนียวๆ รอดูจนน้ำค่อยๆ แห้ง จึงขูดเอายาดำออกจากกระทะ เก็บไว้ทำยา
ยาดำที่ผ่านการสะตุจะมีความเงาลดลง จับตัวเป็นก้อน และน้ำหนักเบา ส่วนใหญ่เรามักพบยาดำแทรกอยู่ในยาระบายหลายตำรับ จนกระทั่งมีคำพังเพยว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงแทรกหรือปนอยู่ทั่วไปนั่นเอง
8 Mar 2019
8 Mar 2019
8 Mar 2019
6 Mar 2020